ความหมายของการสอบ ภาค ก.

          ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุผลหนึ่งที่ผู้สอบไม่สนใจอ่านหนังสือ ก็เพราะเกิดความสงสัยว่าสอบแล้วนำไปใช้อย่างไร หรือสอบได้อะไรจากการสอบภาค ก. เพราะความสงสัยนี่เองเลยทำให้ผู้สอบไม่มีเป้าหมาย หรือหมดกำลังใจในการอ่านหนังสือไปนั้นเอง

          การสอบเข้ารับราชการโดยวิธีการสอบแข่งขันนั้นผู้สอบต้องสอบทั้งหมด 3 ภาค คือภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) และภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ค.) และโดยปกติการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ก.พ. จะเป็นผู้ดำเนินการสอบ เหมือนที่ผู้อ่านกำลังอ่านเพื่อเตรียมตัวในตอนนี้นั้นเอง ส่วนการสอบภาค ข. และภาค ค. หน่วยงานราชการที่ต้องการบุคลากรมาทำงานในตำแหน่งต่างๆ จะเปิดสอบเอง เช่น กรมการปกครองต้องการเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) ก็จะดำเนินการสอบภาค ข. และภาค ค. เอง หรือกรมการพัฒนาชุมชน ต้องการบุคลากรมาทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ก็จะดำเนินการสอบทั้งภาค ข. และภาค ค.

ความหมายของการสอบ ภาค ก.

          ส่วนการนำไปใช้ หลังจากที่เราได้รับหนังสือรับรองผลการสอบภาค ก. แล้วนั้น ให้เรารอฟังข่าวประกาศรับสมัครสอบ (ภาค ข.) โดยในประกาศรับสมัครสอบบุคคลเพื่อเข้ารับราชการนั้นก็จะมีคุณสมบัติอยู่ข้อหนึ่งคือ ผู้ที่สมัครสอบได้นั้นต้องเป็นผู้ที่สอบผ่านภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ของ ก.พ. และต้องเป็นผู้ที่ได้รับวุฒิตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งด้วย เช่น ถ้าจะสมัครสอบตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) นอกจากจะมีหนังสือรับรองผลสอบภาค ก. แล้วต้องมีวุฒิทาง รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือกฎหมาย (นิติศาสตร์) หรือถ้าเราจะสมัครสอบในตำแหน่ง นักพัฒนาชุมชน ก็ต้องมีหนังสือรับรองผลสอบภาค ก. และต้องมีวุฒิปริญญาตรี ทุกสาขา

          ตัวอย่างเช่น นาย ก. จบปริญญาตรีสาขาการเงินการบัญชี และมีหนังสือรับรองผลการสอบ ภาค ก. ถ้าจะสมัครสอบตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) และนักพัฒนาชุมชน ก็สามารถสมัครได้เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้นคือตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน แต่ถ้านาย ก. จบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ และมีหนังสือรับรองผลการสอบ ภาค ก. ถ้าจะสมัครสอบตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) และนักพัฒนาชุมชน ก็สามารถสมัครได้ทั้ง 2 ตำแหน่งนั้นเอง