สอบภาค ก. ของ ก.พ. คืออะไร? เข้าใจการวัดความสามารถทางสมองตามทฤษฎีของเทอร์สโตน (Thurstone)

การสอบวิชาความรู้ความสามารถทั่วไป (Aptitude Test) หรือที่เรียกกันติดปากว่าการสอบ ภาค ก. เป็นการวัดความสามารถทางสมองของผู้สอบ ซึ่งการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปนี้มีทฤษฎีในการวัดผลมากมายไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีของกิลฟอร์ด ทฤษฎีของการ์ดเนอร์ แต่ทฤษฎีที่นักวัดผลทั่วโลกหรือในประเทศไทยยอมรับคือทฤษฎีของเทอร์สโตน ที่แบ่งความสามารถทางสมองของมนุษย์ออกเป็น 7 องค์ประกอบ หรือที่เรียกกันว่า ทฤษฎีองค์ประกอบเป็นกลุ่มของเชาวน์ปัญญา หรือ Group Factor Theory of Intelligence ดังนี้

          1. ความสามารถด้านตัวเลข Number factor
          2. ความสามารถด้านเหตุผล Reasoning factor
          3. ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ Space Factor
          4. ความสามารถด้านภาษา Verbal Factor
          5. ความสามารถด้านการสังเกตรับรู้ Perception Factor
          6. ความสามารถด้านความคล่องแคล่วในการใช้คำ Word Fluency Factor
          7. ความสามารถด้านความจำ Memory Factor

สอบ ก.พ. x ทฤษฎีของเทอร์สโตน (Thurstone)

          แต่เนื่องจากการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไปของ ก.พ. นั้นมีผู้เข้าสอบจำนวนมากและยากที่จะวัดความสามารถของผู้เข้าสอบทุกคนให้ครบทั้ง 7 ด้าน จึงได้นำเฉพาะด้านที่มีความสำคัญเพียง 4 ด้านที่สามารถใช้วัดผลโดยวิธีการสอบข้อเขียนมาเพื่อความเหมาะสมและสามารถวัดผลผู้สอบได้ทุกคน

ด้านที่ไม่ได้ใช้ในการวัดผล คือ ความสามารถด้านการสังเกตรับรู้ Perception Factor ความสามารถด้านความคล่องแคล่วในการใช้คำ Word Fluency Factor และความสามารถด้านความจำ Memory Factor เพราะยากที่จะวัดความสามารถของผู้เข้าสอบได้ครบทุกคน เช่น ด้านความสามารถด้านความจำ Memory Factor ต้องแจกข้อสอบให้ผู้สอบอ่านบทความ แล้วดำเนินการเก็บข้อสอบ แล้วทดสอบว่าผมเข้าสอบจำอะไรได้บ้างในบทความที่ให้อ่าน

          ถ้าเรานำหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันของ ก.พ. มาแบ่งตามความสามารถทางสมองของมนุษย์ทฤษฎีของเทอร์สโตนออกเป็น 4 ด้าน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจเนื้อหา สามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้

         

  • การประยุกต์ใช้ความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของจำนวนหรือปริมาณ และการแก้ปัญหาเชิงปริมาณ และข้อมูลต่างๆ จัดอยู่ในกลุ่มความสามารถด้านตัวเลข Number factor                   
  • การคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของคำ ข้อความ และการหาข้อยุติหรือข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลจากข้อความ สัญลักษณ์ สถานการณ์ หรือแบบจำลอง จัดอยู่ในกลุ่มความสามารถด้านเหตุผล Reasoning factor                         
  • การคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของรูปภาพ จัดอยู่ในกลุ่มความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ Space Factor                  
  • การเลือกใช้คำหรือกลุ่มคำ การเรียงข้อความ การเขียนประโยคได้ถูกต้องตามหลักภาษา และการอ่านและการทำความเข้าใจบทความ หรือข้อความ การสรุปความ การตีความ จัดอยู่ในกลุ่มความสามารถด้านภาษา Verbal Factor

ดังนั้น การสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไปของ ก.พ. นั้นก็เพื่อวัดความสามารถทางสมองของผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นข้าราชการนั้นเอง