ความรู้ในการสอบภาค ก. นำไปใช้ในงานราชการได้อย่างไร

ท่านที่กำลังอ่านหนังสือสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) หรือสอบผ่านจนได้หนังสือรับรองจาก ก.พ. ไปแล้ว อาจสงสัยว่าความรู้ที่ได้จากการสอบภาค ก. สามารถนำไปใช้ในการทำงานราชการอย่างไร

ถ้าไม่นำมาใช้ ก.พ. จะสอบทำไมล่ะ

ทุกอย่างที่อยู่ในภาคความรู้ความสามารถทั่วไป นำไปใช้ในงานราชการหมดเลยครับ

ภาค ก. นำไปใช้ในงานราชการได้อย่างไร

ความรู้ในการเลือกใช้คำหรือกลุ่มคำ

ความรู้ในการเลือกใช้คำหรือกลุ่มคำ หรือการเขียนประโยคได้ถูกต้องตามหลักภาษา ก็จะนำมาใช้กับการร่างและพิมพ์หนังสือราชการ เช่น พิมพ์หนังสือจากอำเภอ ส่งไปยังจังหวัด ก็ต้องนำความรู้เรื่องการใช้คำ หรือการเขียนประโยคมาใช้ด้วย ว่าหนังสือที่เราพิมพ์นั้นใช้คำได้รัดกุมตามหลักภาษาทางราชการหรือไม่ กำกวม ผิดหลักภาษาไทยหรือไม่

ความรู้ในการสรุปความ การอ่านและการทำความเข้าใจบทความ หรือข้อความ

ความรู้ในการสรุปความ การอ่านและการทำความเข้าใจบทความ หรือข้อความ ก็จะนำมาใช้เวลาที่มีหนังสือรับเข้ามาจากภายนอก เช่น ข้อสั่งการของหัวหน้าส่วนราชการ หรือหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติต่างๆ บางครั้งหนังสือมีความยาวถึง 10 หน้ากระดาษ หลังจากที่อ่านเสร็จแล้วเราต้องสรุปให้ได้ว่า เนื้อหาในหนังสือที่รับเข้ามาสรุปว่าอย่างไร หรือให้เราดำเนินการอย่างไร

ความรู้ในการหาข้อยุติหรือข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผล

ความรู้ในการหาข้อยุติหรือข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผล บางครั้งในงานราชการก็จะมีปัญหาให้คิด หรือให้เราแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา อย่างเวลาเข้าร่วมการประชุมก็มักจะมีข้อถกเถียงกันในงาน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เหตุผล หรือหาข้อยุติ ในเรื่องนั้นๆ ให้ได้ การฝึกใช้เหตุผลจึงมีความสำคัญมากในการทำงานราชการ และเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนด้วย

ความรู้ในการประยุกต์ใช้ความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ หรือการแก้ปัญหาเชิงปริมาณ และข้อมูลต่างๆ

ความรู้ในการประยุกต์ใช้ความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ หรือการแก้ปัญหาเชิงปริมาณ และข้อมูลต่างๆ นั้นมีความจำเป็นอย่างมากในงานราชการเพราะงานราชการก็เหมือนงานทั่วๆ ไป ต้องมีตัวเลขให้คำนวณ เช่น การคำนวณรายได้รายจ่ายเงินงบประมาณ การคำนวณเงินเดือน การเลื่อนขั้นเงินเดือน เป็นต้น

จากตัวอย่างที่ยกมาให้เป็นกรณีศึกษากัน ก็พอที่จะทำให้ผู้อ่านหนังสือสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป เข้าใจได้ว่าการสอบเข้ารับราชการไม่ว่าจะเป็น ภาค ก. ภาค ข. หรือภาค ค. ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้นและเป็นเครื่องบงชี้ได้ว่าผู้ที่จะรับราชการได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถครบถ้วนอย่างแท้จริง