1. ประเภทข้อสอบการเรียงประโยคในการสอบเข้ารับราชการ
1. แบบถาม ข้อความใดเป็นลำดับที่ …

ถามได้ 4 ลำดับ
2. แบบถาม การเรียงประโยคในข้อใดถูกต้อง

มีตัวเลือกมาให้ เราสามารถเลือกตอบได้เลย
2. รูปแบบที่ออกข้อสอบ ก.พ.
สำนักงาน ก.พ. นำรูปแบบที่ 1. แบบถาม ข้อความใดเป็นลำดับที่ … มาออกข้อสอบ ภาค ก. ทุกระดับ ดังนั้นการเตรียมตัวควรดู ชุดติว/อ่านหนังสือ เฉพาะรูปแบบนี้เท่านั้น

3. หลักการทำข้อสอบการเรียงประโยค
การเรียงคำหรือประโยคพอที่จะแยกประเภทของการเรียงได้ 3 ประเภท ได้แก่
3.1 เรียงแบบ ประธาน + กริยา + กรรม (ถ้ามี)
- เป็นการเรียงข้อความตามหลักทั่วไปของการเขียนบทความ เช่น นายแดงกำลังเดินทางไปสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไปที่ ศูนย์สอบจังหวัดอุบลราชธานี
3.2 เรียงแบบ ทั่วไป + เจาะจง
- ข้อความประเภทนี้มักถูกตัดออกมาจากกลางบทความแล้วนำมาเป็นข้อสอบ โดยข้อความส่วนแรกจะกล่าวถึงเรื่องทั่วๆ ไป แล้วเจาะจงตอนท้ายของประโยค เช่น ส่วนแรกกล่าวถึงผลไม้ ซึ่งกว้างมากไม่รู้ว่าเป็นผลไม้ชนิดใด ส่วนตอนท้ายของข้อความจะเจาะจงว่าเป็นผลไม้ชนิดใด เช่น เงาะ กล้วย หรือข้อความที่กล่าวถึงข้าราชการ ข้าราชการในประเทศไทยก็ไม่หลายตำแหน่งมาก และตอนท้ายของบทความก็เจาะจงประเภทของข้าราชการว่าเป็น ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
3.3 เรียงแบบ ย่อย + รวม
- ข้อความส่วนแรกจะกล่าวถึงเรื่องย่อยๆ ของข้อความก่อน เช่น กล่าวถึงอิฐ หิน ปูน ทราย และตอนท้ายก็จะกล่าวถึงทั้งหมดว่านำมาผสมกันเพื่อเป็นคอนกรีต หรือส่วนของธาตุหรืออะตอมต่างๆ เมื่อนำมารวมกันแล้วจะเป็นสารชนิดใด
4. ขั้นตอนการเรียงข้อความ
- ขั้นตอนที่ 1 ให้หาคำขึ้นต้นประโยค หรือประธาน
- ขั้นตอนที่ 2 ให้หาคำลงท้ายประโยค
- ขั้นต้อนที่ 3 ให้หาข้อความในลำดับที่ 2 และ 3 หรือคำที่อยู่กลางประโยค โดยมากมักเป็นคำสันธาน
4.1 ขั้นตอนที่ 1 ให้หาคำขึ้นต้นประโยค หรือประธาน
การหาข้อความในลำดับที่ 1 (ถ้ามีในบทความ)
- คำนามแท้ + เป็น, นับเป็น, ถือเป็น, หมายถึง, คือ
- การ + คำนาม, การ + คำวิเศษณ์, ความ
- ด้วย + หน่วยงาน
- เวลา + คำนาม
- นามเฉพาะที่อยู่ในเครื่องหมาย “……………………”
- แม้แต่ + คำนาม, แม้ว่า + คำนาม
- นามเฉพาะ + กริยา
- ตามที่ + ให้
- ใน + คำนาม, เมื่อ + คำนาม
- เพื่อ (บางครั้งขึ้นต้นประโยคได้)
4.2 ขั้นตอนที่ 2 ให้หาคำลงท้ายประโยค
การหาข้อความในลำดับที่ 4 (ถ้ามีในบทความ)
- ………..เป็นต้น
- ………..ทั้งหมด, ……………..ทั้งสิ้น, รวมทั้ง………….
- ………..อีกด้วย, …………..ด้วย, อีกทั้งเป็น…………..
- ………..ต่อไป
- ตลอดจน…………
- ได้แก่, เช่น
4.3 ขั้นต้อนที่ 3 ให้หาข้อความในลำดับที่ 2 และ 3 หรือคำที่อยู่กลางประโยค โดยมากมักเป็นคำสันธาน
ข้อความในลำดับที่ 2 และ 3 จะเป็นคำที่อยู่กลางข้อความส่วนมากจะเป็นคำสันธาน หรือไม่ก็เป็นข้อความที่คล้อยตามหรือขัดแย้งกับข้อความอยู่ก่อนหน้า
คำสันธาน คือคำเชื่อมระหว่างคำ กลุ่มคำ หรือประโยค เช่น
- คล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า กับ และ , ทั้ง…และ , ทั้ง…ก็ , ครั้น…ก็ , ครั้น…จึง , พอ…ก็ ตัวอย่างเช่น พออ่านหนังสือเสร็จก็เข้านอน หรือ พ่อและแม่ทำงานเพื่อลูก
- ขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ , แต่ว่า , ถึง…ก็ , กว่า…ก็ ตัวอย่างเช่น กว่าตำรวจจะมาคนร้ายก็หนีไปแล้ว หรือ เขาอยากมีเงินแต่ไม่ทำงาน
- เป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่คำว่า จึง , เพราะ…จึง , เพราะฉะนั้น…จึง ตัวอย่างเช่น เขาวิ่งเร็วจึงหกล้ม หรือ ฉันกลัวรถติดเพราะฉะนั้นฉันจึงออกจากบ้านแต่เช้า
- ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า หรือ หรือไม่ก็ , ไม่เช่นนั้น , มิฉะนั้น ตัวอย่างเช่น เธอต้องทำงานมิฉะนั้นเธอจะถูกไล่ออก

